หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนล่างที่พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี พบมากในช่วงอายุ 2-8 เดือน พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน พบได้บ่อยในทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ พบน้อยในทารกที่กินนมมารดา
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่สำคัญคือ กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก* เชื้อนี้สามารถติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสผ่านวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ เชื้อมักจะแพร่กระจายลงไปที่หลอดลมฝอย (bronchioles) ทำให้เยื่อบุผิวอักเสบบวม และหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามาก เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการไอและหายใจหอบ
ระยะฟักตัว (สำหรับการติดเชื้ออาร์เอสวี) 2-5 วัน
หลอดลมและถุงลม
* เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในคนทุกวัย การติดเชื้อครั้งแรกเกิดในเด็กเล็ก มักจะรุนแรง หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อซ้ำอีก ในเด็กอายุมากกว่า 3 ปี และผู้ใหญ่ การติดเชื้อมักจำกัดอยู่ในทางเดินหายใจส่วนต้น กลายเป็นเพียงไข้หวัด
อาการ
แรกเริ่มอาการแบบไข้หวัด คือ ไข้ น้ำมูกไหล และไอ 2-5 วันต่อมาเด็กจะมีอาการไอรุนแรง และหายใจหอบ มีเสียงดังวี้ด เด็กจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย ไม่ยอมดูดนมหรือกินอาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนหลังไอ อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ ในรายที่หอบมากมักมีอาการปากเขียว
ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดภาวะขาดน้ำ ปอดอักเสบ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย ภาวะปอดแฟบ (atelectasis) จากการอุดกั้นของหลอดลม
บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย
ที่ร้ายแรง คือ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง มักเกิดกับทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เอดส์) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคทางปอดเรื้อรัง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
มักตรวจพบไข้ 38-39 องศาเซลเซียส บางรายอาจไม่มีไข้
รายที่เป็นรุนแรงจะพบอาการหายใจเร็ว (มากกว่า 50-60 ครั้ง/นาที) ชีพจรเต้นเร็ว ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม ปากเขียว พบภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น
การเคาะปอดมีเสียงโปร่ง (hyperresonant) การฟังปอดได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) กระจายทั่วไป เสียงหายใจออกยาวกว่าปกติ และอาจมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
บางรายอาจตรวจพบหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ทดสอบทางน้ำเหลือง (เช่น ELISA) เพื่อพิสูจน์เชื้อต้นเหตุ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์รับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้การรักษาตามอาการ และการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้ยาลดไข้ ให้ออกซิเจน น้ำเกลือ (ต้องระวังอย่าให้มากเกิน) ใช้เครื่องดูดเสมหะ ในรายที่หายใจลำบากอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
บางกรณี (เช่น มีประวัติโรคหืดในครอบครัว หรือเป็นโรคหืดมาก่อน) อาจให้ยาขยายหลอดลม
ส่วนยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเป็นหูชั้นกลางอักเสบจากแบคทีเรียร่วมด้วย
ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายได้ภายใน 7-10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิต พบว่ามีอัตราตายประมาณร้อยละ 2-3 ซึ่งส่วนใหญ่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน
การดูแลตนเอง
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หากเป็นไข้หวัด แต่มีอาการหายใจหอบหรือหายใจเร็วกว่าปกติ (มากกว่า 50-60 ครั้ง/นาที) ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ควรป้องกันไม่ให้เด็กเล็กติดเชื้อแบบเดียวกับการป้องกันไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้เด็กเล็กอยู่ห่างไกลจากผู้ที่เป็นไข้หวัด และไม่ควรพาเด็กเล็กไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น สถานบันเทิง งานมหรสพ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. เด็กเล็กที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคหืด ปอดอักเสบ และการสำลักสิ่งแปลกปลอม ควรซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ตาม หากพบเด็กมีอาการหายใจหอบ ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
2. เด็กที่เป็นโรคนี้มากกว่า 2 ครั้ง พบว่าอาจมีโอกาสเป็นโรคหืดในภายหลัง ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายว่าทั้ง 2 โรคนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร ดังนั้น เมื่อหายจากโรคหลอดลมฝอยอักเสบแล้ว ควรติดตามดูอาการของเด็กต่อไปว่าอาจเป็นโรคหืดตามมาหรือไม่
3. เด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก ควรเฝ้าดูอาการหายใจหอบอย่างใกล้ชิด โดยการนับการหายใจของเด็กขณะอยู่ที่บ้านบ่อย ๆ ถ้าพบว่ามีอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติ (อายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที อายุ 2 เดือน-1 ปี มากกว่า 50 ครั้งต่อนาที อายุ 1-5 ปี มากกว่า 40 ครั้งต่อนาที) เด็กอาจเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ ครู้ป ปอดอักเสบ หรือภาวะร้ายแรงอื่น ๆ ก็ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
ตรวจสุขภาพ: หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker