ตรวจหาโรคปอดระยะแรกเริ่มโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ และเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการตายของประชากรโลกสูงมาก อยู่ในอันดับต้น ๆ นอกจากนั้นยังเป็นโรคที่ต้องให้การรักษาอาการป่วยเรื้อรัง เนื่องจากปอดพิการ ทำให้มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก
หน้าที่ของปอด
ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิต ออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศจะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเข้าไป ออกซิเจนจะไหลผ่าน จมูก ลำคอ หลอดลม เข้าไปถึงปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ที่ไหลมายังปอด เพื่อนำไปเลี้ยงร่างกาย นอกจากนั้นเลือดยังนำของเสียที่ร่างกายสร้างขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มายังปอด และขับถ่ายทิ้งไปทางลมหายใจออก การแลกเปลี่ยนก๊าซทั้งสองต้องอาศัยปอดที่ทำงานได้ตามปกติ ถ้าปอดพิการทำงานไม่ได้ตามปกติ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เพราะต้องออกแรงหายใจเพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนให้พอใช้ และในที่สุดอาจตายได้จากการที่ร่างกายขาดออกซิเจนหรือจากคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ซึ่งทำให้มีภาวะกรดเกิน เพราะหายใจได้ไม่พอ ระบบทางเดินหายใจและปอดเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคและเสื่อมสมรรถภาพ
ปอดเสื่อมได้
ระบบทางเดินหายใจและปอดก็เหมือนอวัยวะอื่น ๆ คือ มีการเสื่อมลงตามอายุขัย ปกติเราหายใจเข้าออกครั้งละประมาณ 300 – 500 ลบ.ซม. หายใจนาทีละ 10 – 20 ครั้ง หรือนาทีละ 5 – 10 ลิตร ประมาณว่า เราหายใจเข้าออกวันละ 8,000 – 12,000 ลิตร หากอากาศที่เราหายใจเข้าไปไม่บริสุทธิ์ ที่เรียกว่ามี มลภาวะเป็นพิษ ในอากาศมีสารและก๊าซที่เป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ อีกทั้งการสูบบุหรี่ การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทก็ทำให้มีมลภาวะเป็นพิษเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบ ทางเดินหายใจและปอดเสื่อมเร็วกว่าที่ควร หรือทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะในปอด นอกจากนั้นในอากาศยังมีเชื้อโรค เชื้อไวรัส และเชื้ออื่น ๆ ที่เมื่อหายใจเข้าไป ทำให้เกิดโรคในปอดที่พบบ่อย คือ เชื้อวัณโรค
อาการโรคปอด
เหนื่อยง่าย
ไอแห้ง ๆ
ไอมีเสมหะ
ไอเป็นเลือด
เจ็บหน้าอก
แต่บ่อยครั้งที่โรคปอดจะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อแสดงอาการก็อาจสายเกินไป อาจรักษาไม่หายขาด หรือแม้ว่าจะหาย แต่มีการทำลายเนื้อปอดมาก ทำให้มีอาการปอดพิการได้ โดยเฉพาะถ้ารักษาช้าไป หรือรักษาไม่ถูกวิธี ถึงแม้จะหายจากโรคก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่ปอดทำหน้าที่ได้ไม่เพียงพอ โรคปอดเรื้อรังที่เมื่อเป็นแล้วมักไม่มีอาการในระยะแรก แต่เมื่อมีอาการก็มักจะสายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้ หรือให้ปอดกลับมาทำงานได้ตามปกติ
โรคปอดที่พบบ่อย
วัณโรค (Tuberculosis)
หลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง (Chronic ฺBronchitis and Emphysema หรือ COPD)
มะเร็งในปอด (Lung Cancer)
โรคหอบหืด (Bronchial Asthma)
ใครควรตรวจโรคปอด
ผู้ที่มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่
ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอมีเสมหะ ไอมีเลือดออกมาด้วย
เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะตรวจทางหัวใจแล้วปกติ หรือหายใจมีเสียงหืด
เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะหายใจแล้วเจ็บมากขึ้น
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ได้แก่
ผู้ที่สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด
ทำงานในโรงงานที่มีมลภาวะ มีควัน มีก๊าซเคมีที่เป็นพิษต่อทางเดินหายใจ
ทำงานในเหมืองแร่ โรงโม่หิน โรงผลิตซีเมนต์
ทำงานในบรรยากาศที่อาจมีการเปื้อนปนหายใจเอาสารกัมมันตภาพเข้าไป
โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารแอสเบสตอส (Asbestos Fiber) เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ตู้เย็น ฯลฯ
ผู้ได้รับการรักษาโดยการฉายแสงบริเวณทรวงอก
ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อต่ำ
ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคที่อยู่ในระยะติดต่อ
ในผู้สูงอายุก็สามารถตรวจได้ เพราะมะเร็งปอดพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และโอกาสหายขาดจะมีมากกว่าเมื่อพบโรคขณะที่ยังไม่มีอาการ